การย้ายตัวอ่อน Embryo transfer

อัตราการตั้งครรภ์และสุขภาพที่ดีของทารกมีความสัมพันธ์กับคุณภาพและความสมบูรณ์ของตัวอ่อนที่ย้าย ดังนั้นในบางคู่สมรสพบว่าถึงแม้จะได้ตัวอ่อนที่เกรดดีในการใส่กลับเข้าโพรงมดลูกแต่ก็ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้  อาจเนื่องมาจากสาเหตุความผิดปกติทางพันธุกรรมบางประเภทที่ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวหรือไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อน( PGT )ก่อนการย้ายเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นและลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคผิดปกติทางพันธุกรรมบางโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารกทั้งนี้การตรวจคัดกรองโครโมโซมในตัวอ่อนจะทำในระยะแบ่งเซลล์( Day 3) หรือ ระยะบลาสโตซิส( Day 5-6)  ของตัวอ่อน  และการตรวจคัดกรองโครโมโซมในตัวอ่อนจะต้องผ่านการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษาถึงความจำเป็นและข้อบ่งชี้ในการตรวจคัดกรองด้วย

 

ขั้นตอนในการย้ายตัวอ่อนมีวิธีการคล้ายกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีอาการเจ็บปวดและไม่ต้องดมยาสลบ การย้ายตัวอ่อนสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะ Day 2–Day 5 หรือ Day 6  โดยจะย้ายตัวอ่อนผ่านสายย้ายตัวอ่อนและใช้เครื่องอัลตราซาวด์ช่วยในการกำหนดตำแหน่งที่จะวางตัวอ่อนบนผนังมดลูกซึ่งการย้ายตัวอ่อนทั้งแบบสด ( Fresh Embryo Transfer ) และ การย้ายตัวอ่อนในรอบแช่แข็ง ( Frozen Embryo Transfer ) จะมีวิธีคล้ายกัน   และหลังการย้ายตัวอ่อนประมาณ 10 – 14  วัน หรือ  2 สัปดาห์ คุณหมอจะนัดคนไข้มาเจาะเลือดเพื่อดูผลการตั้งครรภ์

คำแนะนำหลังย้ายตัวอ่อน

  • หลังย้ายตัวอ่อนควรนอนพักนิ่งๆอย่างน้อย 10-15 นาที
  • งดการมีเพศสัมพันธ์
  • รับประทานยาและสอดยารวมถึงปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามยกของหนักและงดออกกำลังกายหักโหม
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ