ภาวะมีบุตรยากนับเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นอาจด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัจจัยต่างๆที่ทำให้คู่สมรสมีอายุมากขึ้นก่อนการวางแผนมีบุตร ความผิดปกติทางร่างกายหรือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่แฝงอยู่ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้น ปัจจุบันการรักษาภาวะมีบุตรยากนับว่าเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายเพราะนอกจากให้ผลการรักษาในระดับที่น่าพอใจแล้วการทำเด็กหลอดแก้วยังสามารถลดความเสี่ยงของโอกาสที่บุตรจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมอีกด้วย
การทำเด็กหลอดแก้วทั้ง IVF และ ICSI ประกอบด้วยขั้นตอนหลักๆ คือ การกระตุ้นไข่ การเก็บไข่ในฝ่ายหญิง การปฏิสนธิ การเลี้ยงตัวอ่อน และย้ายตัวอ่อนกลับไปยังโพรงมดลูกเพื่อให้เจริญเติบโตต่อ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ก็มีข้อดีแตกต่างกัน ทั้งนี้การจะเลือกวิธีใดนั้นในการรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคุณหมอรวมทั้งภาวะและความพร้อมของคนไข้เป็นหลัก
ใครบ้างที่ควรทำเด็กหลอดแก้ว
- คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตัน หรือท่อนำไข่ถูกทำลาย
- คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีการตกไข่ที่ผิดปกติ
- คู่สมรสที่ฝ่ายชายมีจำนวนอสุจิน้อยหรืออสุจิเคลื่อนที่ได้ไม่ดี
- คู่สมรสที่ไม่ทราบสาเหตุการมีบุตยาก และพยายามมีบุตรมามากกว่า 3 ปี
- คู่สมรสที่มีการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI) แล้วแต่ไม่เกิดการตั้งครรภ์
IVF ( Invitro fertilization )
เป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำเด็กหลอดแก้ว วิธีการคือ นักวิทยาศาสตร์จะนำไข่ที่เก็บได้และอสุจิที่ผ่านการเตรียมแล้วมาใส่ในจานเพาะเลี้ยงจากนั้นปล่อยให้ไข่และอสุจิผสมกันเองคล้ายกับการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เมื่อครบเวลาแล้วนักวิทยาศาสตร์จะนำตัวอ่อนที่ปฏิสนธิไปเลี้ยงต่อในตู้เลี้ยงตัวอ่อนเพื่อรอย้ายกลับไปยังโพรงมดลูกต่อไป
ICSI การทำอิ๊กซี่
ICSI ( Intra Cytoplasmic Sperm Injection) ในคู่สมรสที่ฝ่ายชายไม่สามารถหลั่งอสุจิได้ตามปกติหรืออสุจิที่หลั่งออกมาไม่สมบูรณ์โอกาสที่ไข่กับอสุจิจะปฏิสนธิและเจริญไปเป็นตัวอ่อนนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ยากขั้นตอนการทำ ICSIคือ นักวิทยาศาสตร์จะเลือกอสุจิที่แข็งแรงหนึ่งตัวฉีดเข้าไปในไข่หนึ่งใบเพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิจากนั้นจะนำตัวอ่อนที่ได้ไปเลี้ยงต่อในตู้เลี้ยงตัวอ่อน และเมื่อได้ระยะเหมาะสมแพทย์จะทำการย้ายตัวอ่อนกลับไปยังผนังมดลูก( ซึ่งอาจจะเป็นตัวอ่อนระยะ Day3- Day6 ) เพื่อให้เจริญเติบโตต่อไปเป็นทารกต่อไป

การทำ ICSI เหมาะกับ คู่สมรสที่
- ฝ่ายชายไม่สามารถหลั่งอสุจิเองได้ ต้องทำ TESE/PESA
- อสุจิมีความผิดปกติไม่แข็งแรงสมบูรณ์
- เคยมีประวัติการทำ IVF มาแล้ว ไม่ได้ตัวอ่อนหรือมีตัวอ่อนปฏิสนธิน้อย
- ในคู่ที่มีโรคทางพันธุกรรมหรือในคู่ที่ต้องตรวจคัดกรองพันธุกรรมก่อนการย้ายตัวอ่อน (PGT)
-
ในคู่ที่ใช้อสุจิแช่แข็งในการรักษา
IVF และ ICSI ต่างกันอย่างไร ?
ทั้ง IVF และ ICSI คือขั้นตอนการทำให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนทั้งสองวิธีนี้ต่างกันที่ IVF ( In Vitro Fertilization )จะปล่อยให้อสุจิผสมกับไข่เองคล้ายกับขั้นตอนการปฏิสนธิตามธรรมชาติแต่การทำ ICSI นักวิทยาศาสตร์จะฉีดอสุจิเข้าไปยังเนื้อไข่โดยตรงเพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิ(Intra Cytoplasmic Sperm Injection) ดังนั้นในรายที่อสุจิไม่แข็งแรงสมบูรณ์การทำ ICSI จึงเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิได้มากกว่าและทำให้ได้ตัวอ่อนมากกว่าการทำ IVF นั่นเอง