การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิเพื่อประเมินความสมบูรณ์ความแข็งแรงและองค์ประกอบอื่นๆ ของเชื้ออสุจิถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก พบว่า 40% ของคู่สมรสที่มีบุตรยากมีสาเหตุจากความผิดปกติหรือความไม่สมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ ดังนั้นผลการตรวจวิเคราะห์อสุจิจึงมีความสำคัญสำหรับแพทย์ ในการหาสาเหตุและเลือกวิธีการรักษา
การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ
ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้
- ปริมาณของน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาต่อครั้ง (Volume)
- ความเข้มข้นของตัวอสุจิในหนึ่งมิลลิลิตร (Concentration)
- การเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ (Motility)
- ปริมาณอสุจิที่ยังมีชีวิต(Vitality)
- รูปร่างของตัวอสุจิ (Morphology)


คำแนะนำการเก็บน้ำอสุจิ
- ควรทำการเก็บอสุจิในขณะที่ร่างกายปกติ หากไม่สบายหรือได้รับยาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ควรงดเว้นการหลั่งนํ้าอสุจิด้วยวิธีใด ๆอย่างน้อย 2 วัน แต่ไม่เกิน 5 วัน
- ล้างมือและล้างอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนทำการเก็บ
- ทำการเก็บอสุจิโดยวิธีสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (Musturbation) ห้ามใช้วิธีร่วมเพศแล้วหลั่งอสุจิภายนอกห้ามใช้ถุงยางอนามัยที่มีจำหน่ายทั่วไป (อาจใช้ถุงยางอนามัยชนิดพิเศษที่ใช้เพื่อการเก็บนํ้าอสุจิโดยเฉพาะได้ เช่น Male Factor pack, Hygiene)
- เก็บอสุจิใส่ในภาชนะที่มีปากกว้าง สะอาด ปราศจากเชื้อ ทำจากวัสดุที่ได้รับการศึกษาแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อตัวอสุจิ
- ควรทำการเก็บอสุจิในห้องที่เป็นส่วนตัว ใกล้กับห้องปฏิบัติการหรือหากเก็บอสุจิมาจากบ้าน ควรนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 1 ชั่วโมง
- ระหว่างการนำส่งอสุจิไปยังห้องปฏิบัติการ ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิระหว่าง 25-37 °C หากอุณหภูมิสูงหรือตํ่ากว่านี้จะมีผลต่อการเคลื่อนที่และการมีชีวิตของอสุจิ (ห้ามเก็บในตู้เย็นหรือแช่ในนํ้าแข็ง)